ปัญหาที่มีผู้เข้ามาสอบถามวิศวกรบ่อยมาก หรือต้องการให้วิศวกรเข้าไปสำรวจเพื่อวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขซึ่งก็คือ ปัญหาที่เสียงภายในห้องประชุม ซึ่งอยู่ภายในอคาารสำนักงาน ดังทะลุออกภายนอก ซึ่งทำให้ไม่สามารถใช้งานพื้นที่สำนักงานที่เช่าแสนแพง เช่น
– ไม่สามารถใช้ห้องประชุม พูดคุยหารือ เรื่องสำคัญ หรือเป็นความลับได้เพราะคนข้างนอกสามารถได้ยิน
เสียงภายในห้อง
– เสียงจากกิจกรรมภายในห้องประชุมหรือห้องสัมมนา ดังทะลุมารบกวนห้องทำงานที่ต้องการใช้สมาธิ
ปัญหาเหล่านี้ มาแก้ไขทีหลังนั้น ยากแสนยาก!! การออกแบบที่ดีแต่แรกจะป้องกันปัญหานี้ได้เป็นอย่างดีและประหยัด แต่หากมาแก้ทีหลัง นอกจากจะต้องเสียงค่าใช้จ่ายมากมายแล้ว บางทีก็ไม่สามารถแก้ไขได้เลยครับ
ดังนั้นวิศวกรเลยตัดสินใจเขียนบทความนี้เพื่อแชร์ความรู้ ให้แก่ผู้สนใจได้ศึกษา เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ใช้งานอย่างเต็มที่ครับ
สรุปสาเหตุหลักที่ทำให้ห้องประชุมเก็บเสียงไม่ได้
1. มีรอยรั่วบริเวณประตู หน้าต่าง หรือผนัง ทำให้เสียงลอดผ่านออกมาภายนอก
2. เสียงเดินทางอ้อมฝ้าจากภายในห้องออกมาภายนอก โดยเฉพาะฝ้าทีบาร์ และโคมไฟดาวไลต์
3. เสียงเดินทางลอดท่อแอร์ออกมาภายนอก
4. ผนังมีประสิทธิภาพกันเสียงไม่เพียงพอ พอห้องประชุมมีเสียงดังมากๆ ก็เลยกันไม่อยู่
5. น่าตลกคือ บางห้องมีทุกข้อรวมกันเลยครับ
โอเคครับ ผมจะอธิบายทีละข้อว่าลักษณะของเสียงที่ลอดออกมาจากห้องเป็นอย่างไร
เสียงสามารถเดินทางผ่านระหว่างห้องได้ในรูปแบบไหนบ้าง
1 เสียงเดินทางทะลุผ่านผนังที่กั้นระหว่างห้องโดยตรง
2 เสียงเดินทางผ่านช่อง Return ของแอร์ เดินทางผ่านฝ้า และใต้พื้นที่ช่องอากาศ
3 เสียงเดินทางผ่านรอยรั่ว หรือช่องเปิดของประตู/ หน้าต่าง อ้อมข้ามไปอีกห้อง
4 เสียงลอดผ่านรอยรั่วของผนัง
แล้วเราควรออกแบบห้องยังไงเพื่อให้มันเก็บเสียงได้
ผมขออนุญาตแบ่งเป็นข้อๆ เพื่อเป็น Check list ในการออกแบบไปเลยนะครับ
1. วางแผนในการจัด Layout ห้องให้เหมาะสมในการใช้งาน
2. แนวการวางท่อแอร์ ทั้ง Supply และ Return มีความสำคัญ
3. ถ้าทำผนังชนท้องฝ้าคอนกรีตด้านบนไม่ได้ จะต้องทำฝ้าให้กันเสียงได้
4. ซีเรียสเรื่องเก็บเสียงจริงๆ แนะนำอย่าใช้โคมดาวไลต์
5. ตำแหน่งประตู และหน้าต่างของห้องมีความสำคัญ
6. เสียงแอร์ช่วยได้เยอะ !!!
วางแผนในการจัด Layout ห้องให้เหมาะสมในการใช้งาน
หลักการในการจัดวาง Layout เพื่อช่วยป้องกันเสียงมีดังนี้ครับ
1. หลีกเลี่ยง แปลนที่วางห้องที่ใช้เสียงให้อยู่ติดกัน หรืออยู่ตรงข้ามกันพอดีกับห้องที่ต้องการความเงียบสูง
2. เอาห้องที่ไม่ซีเรียสเรื่องเสียงกั้นระหว่างห้องที่มีเสียงดัง กับห้องที่ต้องการความเงียบได้เช่นกัน
3. ถ้าหลีกเลี่ยงการเอาห้องที่เสียงดังมาติดกับห้องที่ต้องการความเงียบสูงไม่ได้ จะต้องออกแบบผนังและ
ฝ้าให้กันเสียงให้ได้
แนวการวางท่อแอร์ ทั้ง Supply และ Return มีความสำคัญ
แนวการวางท่อแอร์ เป็นสิ่งสำคัญและต้องมีการวางแผนแต่ต้นในการก่อสร้างเลยครับ หากเกิดปัญหาแล้วการแก้ไขจะยุ่งยากมาก หรืออาจจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลยก็เยอะครับ
ปัญหาที่เจอคือการวางแนวท่อแอร์ทะลุเชื่อมกันทุกห้อง คราวนี้พอเสียงขึ้นท่อแอร์ไปก็จะวิ่งกระจายไปห้องอื่นๆ ทำให้ได้ยินเสียงในห้องชัดเจนเลยทีเดียว (เราเรียกว่า Cross-Talk noise)
หากเรารู้แต่แรกว่า ห้องไหนเป็นห้องประชุมต้องการเป็นส่วนตัวหรือความลับ การออกแบบแนวท่อแอร์ที่พยายามให้แอร์วิ่งอ้อม สร้างอุปสรรคให้มัน เช่นกรุวัสดุดูดซับเสียงไว้ในท่อแอร์ จะช่วยป้องกันเสียงข้ามระหว่างห้องได้ ดังตัวอย่างในรูปครับ
ถ้าทำผนังชนท้องฝ้าคอนกรีตด้านบนไม่ได้ จะต้องทำฝ้าให้กันเสียงได้
อีกสาเหตุหลักที่เข้ามาพัวพันเกี่ยวเรื่องของการเก็บเสียง ซึ่งจะเจอบ่อยมากคือ ปัญหาเรื่องของการก่อสร้างผนังไม่ชนท้องพื้นคอนกรีตด้านบน ทำผนังสูงแค่เสมอแนวฝ้า เนื่องจากสาเหตุว่า
1. ต้องการช่องว่างด้านบน เพื่อเดินระบบไฟฟ้า ท่อแอร์ ท่อดับเพลิง และทำการซ่อมแซมได้ง่าย
2. ใช้ระบบแอร์แบบที่เรียกว่า ใช้โถงฝ้าด้านบนเป็นช่อง Return แอร์ หมายความว่า ไม่เดินท่อ Returnแต่เอาโถงฝ้ามาทำ Return เลย คือดึงลมจากโถงฝ้าไปทำให้เย็นด้วยเครื่องแอร์ที่อยู่นอกตึกและส่งลมเย็นกลับมาทางท่อ Supply จ่ายยังบริเวณต่างๆภายในอาคาร
3. เหนือฝ้าเป็นโถงหลังคา ไม่มีพื้นคอนกรีต
ด้วยสาเหตุเหล่านี้ จึงสร้างปัญหาเรื่องเสียงที่เดินทางอ้อมผ่านฝ้าออกมาได้ง่าย ยิ่งฝ้าที่ใช้เป็นฝ้าประเภทดูดซับเสียง และฝ้าทีบาร์ด้วยแล้ว เสียงยิ่งทะลุผ่านฝ้า อ้อมข้ามผนัออกมาได้ง่ายมากๆครับ
ดังนั้นในการออกแบบตั้งแต่ต้นหากไม่สามารถก่อผนังชนท้องพื้นคอนกรีตและอุดรอยรั่วได้แล้ว แนะนำให้ทำฝ้าที่มีคุณสมบัติกันเสียงได้ เพื่อช่วยป้องกันเสียงทะลุออกไปภายนอก
ระบบผนังที่กันเสียงได้
ขอแบ่งระบบผนังในการกั้นห้องประชุม ออกเป็น 2 ระดับ
1. ระดับไม่ซีเรียส STC 40
2. ระดับซีเรียส STC 50
ตำแหน่งประตู และหน้าต่างของห้องมีความสำคัญ
ตำแหน่งประตูก็มีผลต่อเสียงข้ามด้วยนะครับ แนะนำให้วางตำแหน่งประตูที่เสียงเดินทางข้ามได้ยาก เช่น
วางตำแหน่งให้ห่างกันมากที่สุด วางให้อยู่คนละด้านกัน หรือดีที่สุด มีการทำประตูขั้นอีกชั้นเพื่อป้องกันเสียงให้ได้มากที่สุดครับ
เสียงแอร์ช่วยได้เยอะ
นอกจากจะทำกันเสียงแล้ว ในที่ทำงานประจำของวิศวกร ได้เจอพระเอกที่ช่วยให้ห้องประชุม เก็บเสียงได้อย่างดีเยี่ยมครับ นั่นก็คือ เสียงแอร์ !!!
ค่าระดับเสียงแอร์ในออฟฟิตของวิศวกร เวลาเปิดแอร์ ตั้งแต่ 8.00 – 17.00 น. นั้น ดังถึง 55-60 เดซิเบล
ทำให้เสียงแอร์ช่วยกลบเสียงที่ดังทะลุออกมาจากห้องประชุม จนแทบไม่ได้ยินเลยครับ ซึ่งได้ผลดีมากหากคิดว่าคงทำอะไรกับผนัง ฝ้า อะไรได้อีกแล้วครับ แนะนำให้ลองทำดูครับ !!! (อย่างไรก็ตามหากเสียงแอร์ดังเกินไปอาจจะรบกวนการทำงานของคนทำงานก็ได้ครับ จะต้องลองปรับแก้ตามสถานการณ์กันไปครับ