หลายคนชอบให้ความสนใจในการทำผนังกันเสียง โดยลืมความสำคัญของฝ้าเพดานไป เนื่องจากเสียงกระจาย 360 องศา เป็นทรงกลม ดังนั้น ถ้าผนังกันเสียงได้ดี เสียงก็จะทะลุออกไปทางฝ้า ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
โดยปกติหากด้านบนของห้องที่เราต้องการป้องกันเสียง ไม่ว่าจะกันเสียงเข้า หรือกันเสียงออกไปนอกห้อง เป็นพื้นปูน ในกรณีแบบนี้อาจจะเพิ่มฝ้ากันเสียงเพียงแค่ชั้นเดียว ก็เพียงพอแล้ว หรือไม่ต้องทำก็ยังได้ หากเสียงดังมีระดับเสียงที่ไม่มากนัก
รูปที่ 1 รูปแบบฝ้ากันเสียงชั้นเดียว ในกรณีที่ด้านบนเป็นพื้นปูน หรือไม่ได้ซีเรียสเรื่องการป้องกันเสียงมากนัก (ฝ้าแบบนี้กันเสียงฝนตกบนหลังคาเมทัลชีทได้ดี)
แต่กรณีที่เจ้าของห้องควรจะต้องพิจารณาคือ หากเหนือห้องที่ต้องการกันเสียงดังมากๆ เป็นหลังคาเลย เช่น เป็นบ้านชั้นเดียว หรือห้องอยู่ชั้นบนสุดของตัวบ้าน เหนือห้องเป็นหลังคาของบ้านเลย
ในกรณีแบบนี้ จำเป็นที่ต้องทำระบบฝ้ากันเสียง 2 ชั้น เพื่อทำให้เสียงสามารถทะลุผ่านฝ้าออกไปได้อยาก แบบนี้ถึงจะทำให้ห้องมีคุณสมบัติเป็นห้องเก็บเสียงที่มีความสมบูรณ์
โดยเทคนิคการติดตั้งระบบฝ้ากันเสียงทำได้ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 กรณีมีฝ้าเดิม เช่นฝ้า ทีบาร์ ให้รือฝ้าเดิมออก แล้วทำการผูกโครงฝ้าฉาบเรียบใหม่ แนะนำให้กำหนดระดับฝ้าใหม่ ให้สูงกว่าฝ้าเดิมเล็กน้อย เพราะเมื่อทำฝ้าสองชั้นแล้ว ระดับความสูงฝ้าจะไม่เตี้ยลงมา มากจนเกินไป
ขั้นตอนที่ 2 ให้แหย่ลวดที่ผูกกับโครงหลังคาทะลุฝ้าชั้นแรกลงมา เพื่อทำการผูกฝ้าชั้นที่สองด้านล่างอีกครั้ง
ขั้นตอนที่ 3 ผูกโครงฝ้าชั้นที่สอง โดยช่องว่างระหว่างฝ้าชั้นแรก และฝ้าชั้นที่สอง ให้กรุฉนวนกันเสียง ISONOISE เต็มพื้นที่ฝ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิาภาพในการป้องกันเสียงทะลุผ่านเข้าออกของฝ้ากันเสียง
ขั้นตอนที่ 4 ปิดแผ่นฝ้าชั้นที่สอง ฉาบรอยต่อให้เรียบร้อย และสิ่งสำคัญคือ ควรใช้โคมไฟติดลอย ไม่แนะนำให้เจาะแผ่นฝ้า เพื่อติดตั้งโคมดาวไลต์ เพราะจะทำให้ระบบฝ้ากันเสียงมีประสิทธิภาพลดลงไปอย่างมาก
แนะนำให้ติดโคมดาวไลต์แบบลอยตัว อย่างเช่นในรูปด้านล่าง เพื่อคงประสิทธิภาพการป้องกันเสียงของระบบฝ้ากันเสียงให้สูงที่สุด