โดยปกติแล้วการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงของผนังจะทำการทดสอบภายห้องปฏิบัติการ โดยค่าที่ใช้เพื่อบ่งบอกประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงของผนังเราเรียนว่า ค่า TL หรือ ค่า Sound Transmission Loss โดยค่า TL จะแตกต่างกันไปในแต่ละความถี่ของเสียง ซึ่งสามารถสรุปวิธีการทดสอบได้ดังต่อไปนี้ครับ
ห้องที่ใช้สำหรับทดสอบจะมีลักษณะเป็นห้องทึบ 2 ห้อง ที่อยู่ติดกัน ผนังภายในห้องสร้างคอนกรีตหนาอย่างน้อย 40 เซนติเมตร เพื่อให้ผนังสามารถป้องกันเสียงทะลุผ่านออกไปข้างนอกได้
โดยห้องที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง (Source Room) จะถูกวางลำโพงและเปิดเสียงสัญญาณที่ความดังสูงเข้าไปในห้อง ซึ่งเราจะติดตั้งระบบผนังที่ต้องการทดสอบค่าประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงกั้นระหว่างห้องทั้ง 2
เมื่อทำการเปิดสัญญาณเสียงที่ห้องแห่งกำเนิดเราจะทำการวัดค่าระดับความดังภายในห้องแหล่งกำเนิดจำนวนอย่างน้อย 9 ตำแหน่งกระจายทั่วห้อง และหลังจากนั้นก็ทำการวัดระดับความดังของห้องผู้รับ (Receiving Room) ผลต่างของค่าเฉลี่ยระดับเสียงระหว่างห้องแหล่งกำเนิดทุกตำแหน่ง และห้องผู้รับ คือค่าประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงของระบบผนังที่ทำการทดสอ
โดยเวลาที่ค่าประสิทธิภาพในการป้องกันเสียง หรือค่า TL ถูกทดสอบ ห้องปฏิบัติการจะออกค่าผลทดสอบ แยกตามช่วงความถี่แบบ Octave มาให้ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากในการสื่อสารโดยเฉพาะกับวงการสถาปนิก เพราะการพูดค่าTL จะต้องระบุย่านความถี่ที่ต้องการจะสื่อสารด้วย
ดังนั้น จึงมีการกำหนดค่าดัชนีที่เป็นตัวเลขตัวเดียวออกมาเพื่อเป็นตัวแทนในการสื่อสารประสิทธิภาพของการป้องกันเสียงทะลุผ่านของระบบผนังแบบภาพรวม ค่านี้เรียกว่า ค่า STC หรือ Sound Transmission Class
การหาค่า Sound Transmission Class ไม่ใช่การหาค่าเฉลี่ยของ TL ทุกๆ ความถี่นะครับ แต่มีวิธีการหา โดยการใช้เส้น STC Contour ซึ่งกราฟมาตรฐาน และทำการขยับกราฟมาตรฐานขึ้นลงในแนวดิ่งเปรียบเทียบกับค่า TL ที่ได้จากการวัด โดยการขยับจะถูกทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- เมื่อรวมค่าผลต่างระหว่างค่าบน STC contour กับค่า TL ที่ได้จากการวัด จะต้องมีค่าไม่เกิน 32 dB
- ค่าผลต่างสูงสุดของแต่ละจุด จะต้องไม่เกิน 8 dB
เราสามารถเปรียบเทียบค่า STC กับความรู้สึกในการได้ยินเสียงที่ทะลุผ่านผนังที่ค่า STC แตกต่างกันดังแสดงในรูป
นอกจากการวัดประสิทธิภาพการป้องกันเสียงของผนังในห้องปฏิบัติการแล้วนั้น ยังมีการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันเสียงที่หน้างานจริง (On field) ซึ่งได้รับความนิยมเช่นกัน เนื่องจากการวัดในห้องปฏิบัติการจะเป็นการทดสอบประสิทธิภาพการกันเสียงของระบบผนังจริง แต่ในความเป็นจริงแล้วเสียงไม่ได้เดินทางทะลุผ่านผนังที่กั้นระหว่างห้องเพียงอย่างเดียว แต่เสียงยังเดินทางผ่านโครงสร้างส่วนอื่นๆของห้อง ได้แก่ พื้น ฝ้าเพดาน และผนังที่เชื่อมต่อกันระหว่างห้อง ดังแสดงในรูปข้างล่าง ดังนั้นสำหรับโครงการที่ให้ความสำคัญเรื่องเสียงรบกวนจะมีการทดสอบการป้องกันเสียงที่หน้างานแทบทุกโครงการ เพื่อความมั่นใจสำหรับเจ้าของโครงการ
ในปัจจุบันมาตรฐานที่ได้รับความนิยมสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงที่หน้างาน มีด้วยกัน 2 มาตรฐาน คือ
- มาตรฐาน ISO 140-4: 1998
“Field measurement of airborne sound insulation between rooms”
ค่าเฉลี่ยที่ใช้บอกประสิทธิภาพในการกั้นเสียงระหว่างใช้ชื่อว่า DnT,w - มาตรฐาน ASTM E 336-97
“Standard Test Method for Measurement of Airborne Sound Insulation in Buildings”
ค่าเฉลี่ยที่ใช้บอกประสิทธิภาพในการกั้นเสียงระหว่างใช้ชื่อว่า FSTC
ทั้งสองมาตรฐานมีวิธีการวัดเสียงที่คล้ายกันแต่มาตรฐาน ASTM มีข้อกำหนดที่ละเอียดกว่าคือ มีการกำหนดขนาดของผนังที่ต้องการทดสอบ และขนาดห้องของผู้รับ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ขนาดของผนังร่วมระหว่างห้องเพื่อใช้ในการทดสอบต้องมีขนาดอย่างน้อย 2.3 เมตร และพื้นที่ผนังร่วมจะต้องมากกว่า 5.5 ตารางเมตร
- ปริมาตรของห้องผู้รับเสียง ต้องมีปริมาตร 40 ลูกบาศก์เมตร
หากพื้นที่ของผนังร่วมและห้องผู้รับไม่ตรงตามข้อมกำหนด มาตรฐาน ASTM E336 ระบุให้รายงานค่า NNIC แทนค่า FSTC
เมื่อห้องแหล่งกำเนิดและห้องผู้รับเสียง ถูกเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบ ทั้งมาตรฐาน ISO และ ASTM จะมีขั้นตอนในการตรวจวัดเสียงที่เหมือนกันดังต่อไปนี้
- ทำการตรวจวัดค่าระดับเสียงพื้นฐาน (Background noise) ภายในห้อง Source และ Receiver
- ทำการวางลำโพงในห้อง Source บริเวณที่ไกลจากผนังด้านที่ต้องการทดสอบ เพื่อลดผลกระทบ ของ Direct sound จากลำโพง
- ทำการสร้างสัญญาณเสียงผ่านลำโพง โดยใช้สัญญาณ Pink Noise ที่ช่วงความถี่ 50 Hz- 20kHz
- ทำการวัดค่าระดับเสียงแบบ 1/3 ออกเตฟ ภายห้อง Source จำนวน 9 ตำแหน่ง ทั่วห้อง เพื่อนำมา ค่าระดับเสียงเฉลี่ยของห้อง Source
- ทำการวัดค่าระดับเสียงแบบ 1/3 ออกเตฟ ภายห้อง Receiver จำนวน 9 ตำแหน่ง ทั่วห้อง เพื่อนำมาค่าระดับเสียงเฉลี่ยของห้อง Receiver
- ทำการวัดค่า Reverberation time ภายในห้อง Receiver โดยการปล่อยสัญญาญ Pink noise ให้ค่าระดับเสียงคงที่ แล้วหยุดการปล่อยสัญญาณ เพื่อให้ Sound Level Meter ทำการตรวจวัด ค่าความดังของเสียงที่ลดลงเทียบกับเวลา เพื่อคำนวณหาค่า T30
- ทำการคำนวณค่า DnTw หรือ FSTC ตามข้อแนะนำในการคำนวณตามมาตรฐาน
มีการศึกษาว่า ค่า STC ที่ได้จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ จะมีความสัมพันธ์เชิงสถิติกับค่า FSTC ดังแสดงในตารางดังต่อไปนี้